Hotel series | Wynn Villa Hotel | Part 2
Wynn Villa Hotel, Part II
Wynn Villa Hotel คือผลลัพธ์ของการพลิกโฉมบ้านไม้เก่าใจกลางเมืองประจวบฯ อายุเก่าแก่ร้อยปีให้กลายเป็นโฮเทลและบริสโทร คาฟ่สไตล์โคโลเนียลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจใหม่ ๆ สำหรับนักเดินทางและทุกคนที่อยากจะมาCheck in สักวัน
Owner : คุณอั๊พ-คุณปอ
Location: เมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
Architectural Design : Studio 68
Construction : Q-CON HOME
| SPACE WITH DESIGN AND FUNCTION
แม้จะเป็นบ้านไม้เก่าแต่โครงสร้างและสเปซที่โปร่งโล่งแต่ดั้งเดิมก็มีศักยภาพและเปี่ยมด้วยเสน่ห์ของวันวาน Wynn Villa Hotelจึงได้รับการเนรมิตบนพื้นฐานของการ “Re-use” กับวัสดุเดิมที่มีคุณค่าและความงามในตัวส่งเสริมให้สไตล์โคโลเนียลเด่นชัดยิ่งขึ้นพร้อม ๆ กับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
|ผสมผสานองค์ประกอบจากวันวาน
และอย่างที่ได้บอกไปถึงการเลือกเก็บองค์ประกอบของบ้านเดิมเอาไว้ แต่การเลือกปรับใช้นั้นไม่จำเป็นต้องคงการใช้งานเดิมๆ ไว้ก็ได้ เช่น ไม้ฝ้าหรือไม้พื้นจากเรือนเดิมอาจกลายเป็นผนังไม้สวยๆในบ้านหลัง Renovate หรือจะเป็นชุดหน้าต่างที่นำมาจัดวางใหม่ให้ลงตัว สร้างจังหวะใหม่ๆจากองค์ประกอบเดิมๆให้น่าสนใจ ด้วยเคล็ดลับง่ายๆที่คนมักนึกไม่ถึง เช่น การลอกสีและการทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ด้วยสีที่อ่อนลงให้แตกต่างไปจากเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้มเดิมๆ ที่นิยมในสมัยโบราณ สามารถนำเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าให้ดูร่วมสมัยและเข้ากับการตกแต่งอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นอย่างมาก หรือการนำเอาบานหน้าต่างเก่าจากผนังด้านต่างๆของบ้านมารวมกันเป็นชุดผนังเดียวก็ทำให้ภาษาของงานสถาปัตยกรรมดูน่าสนใจและลงตัวมากกว่าเดิม
| Colonial Style รู้จักโคโลเนียล สไตล์ที่ชวนหลงใหลในทุกเรื่องราว
โดดเด่นด้วยองค์ประกอบfaçadeด้านหน้าโครงการที่ใช้ความสวยงามของสถาปัตยกรรมสไตล์ Colonialมาแปลงโฉมให้กลายเป็นพื้นที่ร่วมสมัย โดยการบรรจุความคลาสสิคของโครงสร้าง วัสดุ และสิ่งของ ผสมผสานเข้ากับการออกแบบในยุคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
สำหรับในประเทศไทยที่มีอากาศค่อนข้างร้อน ทางผู้ออกแบบจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของอาคารให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มช่องระบายอากาศต่างๆ และการให้ร่มเงาเพื่อกันแดด กันฝน เช่น ตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุของเดิม และซุ้มโค้งที่เน้นประตูทางเข้าที่กึ่งกลางอาคาร รูปทรงอาคารเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร ออกแบบแนวเส้นประตูหน้าต่างของอาคารให้เป็นระเบียบในแนวเดียวกัน ผนังเป็นผนังไม้ตีซ้อนเกล็ด สลับไปกับปูนประดับตกแต่งที่ผู้ออกแบบเนรมิตขึ้นใหม่
สำหรับลักษณะเฉพาะของบ้านหรืออาคารสไตล์โคโลเนียลในประเทศไทยคงจะหนีไม่พ้นหลังคารูปทรงจั่วผสมปั้นหยา ที่นิยมใช้ “กระเบื้องหลังคาหางว่าว” หรือ “กระเบื้องว่าว” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่บ้านเรือนไทยด้วยรูปทรง “สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด” ที่นำมาเรียงตัวต่อเนื่องในแนวเส้นทะแยงมุมอย่างเป็นระเบียบสวยงาม สอดคล้องกับรูปลักษณ์และรายละเอียดการตกแต่งภายนอกได้เป็นอย่างดี ทางผู้ออกแบบได้เพิ่มส่วนที่เป็น “ปั้นลม”คือชิ้นส่วนที่ใช้ปิดหัวท้ายริมโครงสร้างหลังคาจั่วด้านสกัด โดยพาดอยู่บนหัวแปและด้านล่างของครอบข้างหลังคา มีหน้าที่กันลมไม่ให้ปะทะกับกระเบื้องหลังคาโดยตรง และช่วยกันน้ำฝนไม่ให้เข้าอาคารวัสดุที่นิยมนำมาใช้เป็นปั้นลมมักเป็นไม้จริงหรือไม้สังเคราะห์ ถือเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและศิลปะตะวันตกจนแทบจะเรียกได้ว่าหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างลงตัว
| สถาปัตยกรรมที่เกิดจากข้อจำกัดและบริบท ผสานเก่าและใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
โครงสร้างและสเปซในอาคารจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรจากเดิมมากนัก เพียงแบ่งโซนการใช้งานใหม่ โดยแบ่งเป็นบริเวณทางเข้าด้านหน้า พื้นที่คาเฟ่ ส่วนต้อนรับ ส่วนพักคอย มีโถงทางเดินตรงกลางแบ่งพื้นที่การใช้งานชัดเจน ห้องน้ำแยก ชาย-หญิง บันไดขึ้นสู่ชั้น 2 และทางออกหลังบ้านสู่คอร์ทระหว่างบ้านหลังใหญ่และบ้านหลังเล็ก ด้วยพื้นที่ 151ตาราเมตรของบ้าน ผู้ออกแบบได้เลือกใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมโดยรอบและทำการรีโนเวทอาคารโดยอ้างอิงจากบริบทเดิมของตัวบ้าน เพื่อจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่เปลี่ยนไป และแก้ปัญหาสำคัญอย่างเรื่องของแสงสว่างภายใน ซึ่งเดิมตัวบ้านค่อนข้างมืดทึบแม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม
เริ่มจากพื้นที่ส่วนหน้าที่เคยเป็นห้องเก็บของ ถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นส่วนหลักที่ช่วยดึงแสงธรรมชาติเข้ามาถึงภายในตัวบ้านชั้นล่างได้เป็นอย่างดี โดยใช้ประตูบานเฟี้ยมและระเบียงซ้อนอีกทีเป็นระนาบปิดกั้น ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง แต่มีความเป็นส่วนตัวอยู่ ในส่วนนี้จะเน้นการระบายอากาศธรรมชาติเป็นหลัก ใช้พัดลมเพดานแทนการติดตั้งแอร์คอนดิชันเนอร์
โถงทางเดินส่วนกลางคือ Circulationหลักในอาคารที่แยกโซนพื้นที่การใช้งานอย่างชัดเจน ต่อเนื่องพื้นที่ภายในภายนอก และโถงบันไดแบบ Open Air (เปิดโล่ง)
| Café & Hangout
พื้นที่ฝั่งตรงข้ามโซนต้อนรับคือส่วนของคาเฟ่มีชื่อว่า“คราม”คาเฟ่ แอนด์ บิสโทร ( Khram café and bistro ) เป็นร้านขายเบเกอรี่ เค้ก และเครื่องดื่ม ภายในตกแต่งด้วยสไตล์Vintage เดินเข้าไปจะเจอเคาน์เตอร์ต้อนรับ ตัวเคาน์เตอร์ทำจากไม้ ผนังกันเปื้องกรุกระเบื้องลายโบราณ โซนรับประทานอาหารด้านหน้าคาเฟ่ และโซนรับประทานอาหารมีประตูบานเลื่อนเปิดปิดกั้นพื้นที่ได้เวลาเปิดเครื่องปรับอากาศ และส่วนนี้ยังสามารถมองเห็นคอร์ทที่เชื่อมต่อกับอาคารหลังเล็กได้
เนื่องจากอาคารเดิมค่อนข้างทึบ ผู้ออกแบบจึงตัดสินใจที่จะนำผนังบางส่วนออก และเจาะช่องเป็นหน้าต่างและประตูบ้านเฟี้ยมเพื่อการเชื่อต่อพื้นที่การใช้งานและให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในร้าน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความโปร่ง โล่ง ให้กับร้านแล้ว ยังช่วยเพิ่มให้บรรยากาศของร้านมีชีวิตชีวาจากแสงแดดที่ส่องเข้ามาอีกด้วย
พื้นที่นั่งรับประทานอาหารมีทั้งส่วนที่เป็นที่นั่งbuilt-in และเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เลือกปูพื้นไม้ และตกแต่งด้วยโคมไฟแขวน ไฟผนังเพื่อสร้างบรรยากาศวินเทจภายในพื้นที่ โทนสีหลักคือ ขาว คราม และ น้ำตาล
ส่วนห้องน้ำเป็นห้องน้ำแยก ชาย-หญิง พื้นเป็น terrazzo เน้นสเปซด้วยการปูกระเบื้องลายโบราณจบด้วยบอร์เดอร์สีเทา ผนังกรุด้วยกระเบื้องเซรามิคผิวมันลายนูน และกระเบื้องลายหินอ่อนในส่วนของเคาน์เตอร์
ส่วนโถงบันไดสร้างขึ้นใหม่เพราะบันไดไม้ของเดิมมีระดับความชันของขั้นบันไดไม่เท่ากัน แต่ยังใช้ไม้บันไดและราวบันไดของเดิมอยู่
| “อบอุ่น” ผ่อนคลาย ณ โรงแรมเล็กๆ ที่มีกลิ่นอายบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล
เดินขึ้นบันไดขึ้นมาชั้นสองจะเป็นส่วนของห้องพักแบบDeluxeขนาด 13.5 ตารางเมตร จำนวน 2 ห้อง ห้องพักแบบSuperior ขนาด 19.7 ตารางเมตร จำนวน2 ห้อง ทุกห้องพักมีห้องน้ำในตัว และโถงพักคอยที่มีระเบียงสามารถออกไปดูวิวคอร์ทยาดได้ ทุกห้องตกแต่งด้วยสไตล์ Vintageใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้โทนสีน้ำตาล ตัดกับผนังไม้เกล็ดสีขาวและสีกรม หรูหราด้วยองค์ประกอบจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เฟอร์นิเจอร์ทองเหลือง ให้ความรู้สึกสุขุมนุ่มลึก
ผู้ออกแบบนำข้อได้เปรียบของโครงสร้างอาคารเดิมที่โปร่งโล่ง มาเป็นพื้นฐานสำคัญของการออกแบบ นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องสเปซและแสงธรรมชาติ จุดเด่นของอาคารนี้คือความสูงของเพดาน ที่ได้รับการออกแบบเพื่อให้ระบายอากาศได้ดีในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ ในส่วนผนังที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งาน รูปแบบบานประตูหน้าต่างที่ดีไซน์ใหม่ ส่วนด้านหน้าอาคาร สิ้นสุดโถงทางเดินถูกออกแบบเป็นDouble space มองเห็นทางเข้าออกหลักและถนนส่วนหน้าอาคาร ตกแต่งเติมด้วยซุ้มแผงตรงกลางอาคารเพื่อเน้นทางเข้า ช่ายส่งเสริมกลิ่นอายวินเทจ และโคโลเนียล ได้เป็นอย่างดี
| Feel the local warmth
Wynn Villa Hotel เป็นโรงแรมขนาด 4 ห้อง ให้บริการห้องพัก 2 รูปแบบการตกแต่งแต่ละห้องออกแบบสไตล์โคโลเนียลเจ้าของโครงการอยากให้ทุกคนที่เข้าพักรู้สึกถึงความอบอุ่น ความผ่อนคลาย ในแบบฉบับของบ้านไม้เล็กๆสมัยก่อน โดยมีการปรับรูปแบบให้ดูร่วมสมัยมากขึ้นเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการผสมผสานความงามของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นกับความหรูหราอย่างมีได้อย่างลงตัว
ห้องพักแบบ Deluxe type ขนาด 13.5 ตารางเมตร Room facilities ประกอบไปด้วย เตียงขนาดควีนไซส์ โต๊ะข้างเตียง โต๊ะเครื่องแป้ง ทีวี ตู้เย็นมินิบาร์ ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำส่วนเปียกและส่วนแห้ง
ห้องพักแบบ Superior ขนาด 19.7 ตารางเมตร Room facilities ประกอบไปด้วย เตียงขนาดควีนไซส์ โต๊ะข้างเตียง โต๊ะเครื่องแป้ง ทีวี ตู้เย็นมินิบาร์โซฟา ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำส่วนเปียกและส่วนแห้ง
ห้องพักแต่ะละห้องจะมองเห็นวิวต่างกัน เช่น ห้อง Deluxe type ที่อยู่ด้านหลังสุดของอาคาร เห็นวิวหลังคาที่เป็นส่วนของคาเฟ่ และบริบทรอบๆโครงการ
ภายในห้องพักเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้built-in โดยทางผู้ออกแบบดีไซน์ให้เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อการใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุด เลือกใช้ทีวีแบบแขวนผนัง ในส่วนของคอนโซล มีลิ้นชักเก็บของและ สามารถเปิดท็อปโต๊ะขึ้นมาใช้งานเป็นโต๊ะเครื่องแป้งได้ ใต้คอนโซลดีไซน์พื้นที่สำหรับใส่ตู้เย็นมินิบาร์ได้
Wynn Villa Hotel โรงแรมที่สามารถผสานความเก่าและความใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว และยังนำข้อด้อยเรื่องสถานที่ตั้ง มาพัฒนาเป็นจุดเด่นให้กับอาคารได้อย่างน่าสนใจ ผู้ที่เข้ามาใช้งานนอกจากจะได้ความสงบและผ่อนคลายจากการเข้าพักแล้ว ยังได้เสพบรรยากาศและกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยสไตล์โคโลเนียล ที่แฝงตัวอยู่ ณ โรงแรมแห่งนี้ได้อีกด้วย
ติดตาม Wynn Villa Hotel series part 3ที่จะตามมาอีกเร็วๆนี้กันด้วยนะคะ
Contributor: Nutcharee D.
Photographer: Sakunkarn K., Thanakrit P., Nutcharee D.